สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล เตือนประชาชนเข้าป่าระวังถูกตัวไรอ่อนกัด อาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้ แนะสวมเสื้อผ้ามิดชิดและทายากันยุงป้องกัน

วันนี้ (27 มี.ค.67) นายแพทย์ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ประชาชนที่เข้าไปในป่าทั้งเพื่อการท่องเที่ยว ทำการเกษตร หรือกิจกรรมอื่น ๆ มีความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด ซึ่งอาจติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ได้ โรคฯนี้ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย มีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ อาศัยอยู่ตามกอไม้กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยไรอ่อนจะไต่ไปตามยอดหญ้าเพื่อกระโดดเกาะเสื้อผ้าหรือกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ปกติแล้วจะมองไม่เห็นไรอ่อนเพราะมีขนาดเล็กมาก (ราว 1 มิลลิเมตร) บริเวณที่มักจะถูกกัดส่วนใหญ่ คือ รักแร้ ขาหนีบ และรอบเอว

 

ดังนั้นหากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 – 12 วัน จะมีอาการปวดศรีษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้นอาจคล้ายแผลโดยบุหรี่จี้ แต่ไม่ปวดไม่คัน ผู้ป่วยบางรายหายเองได้ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมอง และสมองอักเสบอาจเสียชีวิตได้

 

สำหรับประชาชนที่เข้าป่าเพื่อไปท่องเที่ยวหรือทำการเกษตร ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และทายากันยุง สามารถป้องกันการถูกตัวไรอ่อนกัดได้ และขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่

 

หากมีอาการไข้และอาการอื่น ๆ ข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ผู้ซักประวัติทราบ ทั้งนี้สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล โทรศัพท์ 0 7471 1071 ต่อ 307 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

/////////////////////////////

ภาพ-ข่าว/สสจ.สตูล

เรียบเรียง-เผยแพร่/อมรรัตน์ จันทร์พริ้ม/สวท.สตูล


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar